ความต่างของ Introvert-Extrovert และ 5 วิธีการทำงานร่วมกัน

เราเคยคิดกันหรือไม่ว่า บุคลิกภาพแบบใดที่มีโอกาสจะนำพาให้เราประสบความสำเร็จ ความต่างและวิธีการทำงานร่วมกับ Introvert-Extrovert ที่เป็นหลักการแบ่งประเภทของคนเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้มีนัยยะที่จะแสดงให้เห็นถึงลักษณะของคนที่จะประสบความสำเร็จในการทำงานหรือไม่

ดร.ชัยพัชร์ เลิศรักษ์ทวีกุล Chief Executive Officer & Founder – DeOne Academy ชี้ให้เห็นว่า เราไม่ได้ต้องการที่จะแบ่งประเภทคนว่าใครเป็นแบบไหน ไม่ได้ต้องการที่จะบอกว่าลักษณะแบบใดที่จะประสบความสำเร็จในการทำงาน แต่หลักการของ Introvert และ Extrovert นั้นคือการทำให้เรารู้จักและเข้าใจความแตกต่างของคนทั้งสองแบบให้มากขึ้นกัน

Introvert คือ การมองเข้าไปภายใน Extrovert คือการมองออกไปภายนอก ซึ่งทัศนคตินี้มีผลต่อระบบความคิดและการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อม ทำให้คนทั้งสองกลุ่มนี้มีการแสดงออกที่แตกต่างกัน

คนประเภท Introvert จะไม่ชอบเป็นศูนย์กลางของความสนใจ ชอบการได้อยู่เบื้องหลัง ชอบอยู่คนเดียวเงียบ ๆ ใช้เวลาคิดเรื่องต่าง ๆ มักจะพูดไม่เก่ง ไม่ถนัดที่จะมีปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่น ในขณะที่คนประเภท Extrovert จะชื่นชอบการเป็นจุดสนใจท่ามกลางผู้คน ต้องการการยอมรับจากสังคม ชอบแสดงออกด้วยการพูด พูดเก่ง นำเสนอเก่ง ชอบการพบปะผู้คน ให้ความสนใจกับชื่อเสียงและสถานะในสังคม ด้วยเหตุนี้ หากเราไม่เข้าใจที่มาก็อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดได้

introvert-extrovert

จริงหรือไม่ที่คนที่กล้าแสดงออกคือคนที่ทำงานเก่งกว่า

คำถามนี้อาจจะเป็นสิ่งที่เราคิดกันอยู่ในใจ ในสังคมการทำงานของเรานั้นดูเหมือนว่าคนที่มีลักษณะ Extrovert ที่พูดเก่ง นำเสนอเก่ง จะประสบความสำเร็จหรือได้รับการยอมรับมากกว่า แต่การที่คนไม่พูดหรือไม่แสดงออกก็ไม่ได้หมายความว่าคน ๆ นั้น ไม่มีความสามารถในการทำงานเสมอไป

ด้วยลักษณะของ Introvert-Extrovert ที่ต่างกันอย่างที่สุดนี้ หากเรามองถึงในมุมของการทำงานร่วมกัน หากเรามีความเข้าใจ และปรับตัวให้เข้ากับคนทั้ง 2 ลักษณะได้ดี จะสามารถทำให้เราสร้างทีมงานที่แข็งแกร่งได้ เรามาลองดูเทคนิคที่จะทำให้เราสามารถทำงานร่วมกับคนทั้ง 2 ประเภทได้กันนะครับ

1. การจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม

พื้นที่ทำงานเป็นสิ่งหนึ่งที่มีผลกับประสิทธิภาพในการทำงานของคนทั้ง 2 ประเภท สำหรับการวางผังโต๊ะที่ไร้ฉากกั้นแบบในปัจจุบันเพื่อให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันตลอดเวลาอาจมีผลดีกับคนที่เป็น Extrovert เนื่องจากมีความคุ้นชินกับคนหมู่มาก และทำให้มีสมาธิในการทำงาน แต่สำหรับคนประเภท Introvert การจัดโต๊ะทำงานเช่นนั้น จะทำให้ขาดสมาธิในการทำงาน จึงควรจัดพื้นที่สงบให้พวกเขาได้ใช้สมาธิในการคิด ในพื้นที่ที่ได้อยู่คนเดียว เพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ

2. การเลือกลักษณะงานให้เหมาะกับบุคลิก

ในการทำงานนั้น การสั่งงานลูกน้องเป็นสิ่งที่หัวหน้างานต้องทำอยู่เสมอเพื่อให้เราสามารถได้รับผลดีจากการทำงานของคนทั้ง 2 ประเภทนี้ ควรต้องมีการเลือกลักษณะงานให้เหมาะสมกับบุคลิกของลูกน้องแต่ละประเภท งานที่ต้องการคนที่ชอบการเข้าสังคม งานที่ต้องการการระดมความคิดแบบเร่งด่วน หรืองานที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างทันท่วงที งานขาย หรือการตลาด รวมถึงงานที่ต้องประสานงานกับคนหลายประเภท หากเป็นงานเหล่านี้ควรจะเลือกคนประเภท Extrovert ที่สามารถแสดงความคิดเห็นและนำเสนองานได้ในทันที

สำหรับคนประเภท Introvert นั้น เนื่องจากเป็นคนที่ใส่ใจกับรายละเอียดเล็กน้อย ชอบคิด และอยู่กับปัญหาได้ดีกว่า อีกทั้งต้องใช้ความคิด และประมวลผลให้มั่นใจก่อนที่จะนำเสนอหรือพูดออกมา จึงควรให้คนประเภทนี้ทำงานที่ต้องมีการคิดแก้ไขปัญหา ให้ใช้เวลาในการหาแนวทางแก้ไข เช่น งานเอกสาร งานด้านบัญชี การวิเคราะห์ข้อมูล หรืองานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

3. จัดรูปแบบการทำงานให้เหมาะสม

สำหรับคน Extrovert นั้น การทำงานกับคนจำนวนมาก การแสดงความคิดเห็นในการประชุม การประชุมในรูปแบบ Brainstorming การเข้าสังคมเพื่อสร้างสัมพันธ์กับคนจะเป็นรูปแบบการทำงานที่เหมาะสม และทำให้สามารถใช้ประสิทธิภาพของคนกลุ่มนี้ได้อย่างเต็มที่

แต่สำหรับคนประเภท Introvert นั้น การแบ่งทีมให้เล็กลง รูปแบบการประชุมทีมย่อย หรือการตั้งวงสนทนาเล็ก ๆ การทำงานแบบหนึ่งต่อหนึ่ง หรือการใช้การสื่อสารด้วยช่องทางออนไลน์ จะเป็นรูปแบบการทำงานที่ช่วยให้คนกลุ่มนี้สบายใจที่จะแสดงความคิดเห็น และจะเป็นวิธีที่เราจะสามารถดึงศักยภาพของคนกลุ่มนี้ออกมาได้

4. การเปิดโอกาสให้เรียนรู้ความแตกต่างของกันและกัน

ถึงแม้ว่าบุคลิกลักษณะของคนกลุ่ม Extrovert จะตรงข้ามกับคนกลุ่ม Introvert ก็ตาม แต่สิ่งที่เราในฐานะหัวหน้างานและทีมงานสามารถที่เรียนรู้ข้อดีจากสิ่งเหล่านั้น และนำมาปรับใช้กับการทำงานในแบบของเราได้ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแต่อย่างใด

ลักษณะที่โดดเด่นอย่างหนึ่ง ของคนกลุ่ม Extrovert คือ ความเป็นมิตรต่อคนรอบข้าง เราอาจเลือกที่จะส่งรอยยิ้มและสายตาที่เป็นมิตรให้คนรอบข้างแทน หรือการที่คนกลุ่ม Introvert มีจุดเด่นในการความละเอียดและการคิดวิเคราะห์ เราก็สามารถเรียนรู้ หาเวลาในการนั่งพิจารณาเรื่องที่ผ่านมาในแต่ละวันว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง สิ่งไหนที่ทำแล้วดี สิ่งไหนที่ทำแล้วไม่ดี ด้วยวิธีการนี้ จะทำให้เราได้เรียนรู้วิธีการทำงานจากคนรอบข้างและยังเป็นการพัฒนาศักยภาพการทำงานของเราอย่างมีความสุข

5. ไม่ตัดสินหรือให้รางวัลจากแค่สิ่งที่เห็น

เราคงไม่ปฏิเสธว่าในชีวิตการทำงานของเรานั้น คนที่มีความสามารถเข้ากับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน ได้ดี มีคนรู้จักมากมาย จะมีโอกาสที่จะก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากกว่า ในฐานะที่เราเป็นหัวหน้างานแล้วนั้น เราควรจะมองทีมงานที่มีลักษณะทั้ง 2 ประเภทด้วยความเท่าเทียมกัน ในฐานะหัวหน้างาน ย่อมชื่นชมคนในทีมที่เป็นประเภท Extrovert มีความเป็นผู้นำ กล้าพูด กล้าทำ มองว่ามีศักยภาพที่ดี แต่แท้จริงแล้วพฤติกรรมเหล่านั้นไม่ได้หมายความว่าจะทำงานได้ดีกว่า

และหากเราไม่เปิดโอกาสให้ทีมงานที่เป็นประเภท Introvert ได้แสดงความคิดเห็นหรือแสดงประสิทธิภาพในการทำงาน ก็อาจจะยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้รู้สึกด้อยและไม่อยากแสดงออกมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ภาพรวมของประสิทธิภาพในการทำงานของทีมงานของเราลดน้อยลงได้

introvert-extrovert

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับการเข้าใจพฤติกรรมของคนประเภท Introvert-Extrovert หวังว่าท่านจะได้นำไปคิด วิเคราะห์ และนำไปปรับใช้ในชีวิตทั้งในการทำงานและส่วนตัวกันนะครับ

ในโลกของการทำงาน ความแตกต่างของคนมีอยู่ในทุกที่ ทุกคนต่างพยายามที่จะแสดงศักยภาพของตนเองเพื่อให้ได้รับการยอมรับ

ในการเป็นผู้นำ เป็นหัวหน้างานของเรานั้น การบริหารทีมงานที่ประกอบไปด้วยคนที่มีบุคลิกลักษะณะแบบ Introvert และ Extrovert ให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้น เราเองก็ควรที่จะทำความเข้าใจและปรับตัวให้สามารถทำงานกับคนทั้งสองแบบให้ได้ นำข้อดีของแต่ละคนมาใช้ จะทำให้เราสามารถบริหารทีมงานได้มีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลต่อความสำเร็จของหน่วยงานหรือองค์กรอีกด้วย

ดูรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่: In-House


ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
โทร : 098-424-5241
https://www.facebook.com/DeOneAcademy

แชร์โพสต์นี้