ด้วยสภาพการแข่งขันที่รุนแรงทำให้ธุรกิจจะต้องปรับตัวและหาหนทางให้อยู่รอดและเติบโตต่อไป หนทางที่จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นใจคือ “การวางแผนกลยุทธ์”
อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้จัดการหลายคนซึ่งยังทำงานตามสัญชาตญาณและอาศัยความรู้สึกในการทำงาน ทำงานไปวัน ๆ สั่งงานและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อย ๆ ซึ่งแม้ว่าในอดีตวิธีการอย่างนี้จะทำให้อยู่รอดได้ แต่ในปัจจุบันวิธีการแบบนี้ไม่สามารถตอบโจทย์สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้แล้ว ดังนั้น ถ้าหากผู้จัดการยังคงทำงานในรูปแบบเดิมๆ ก็จะพบปัญหาที่ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น
- การใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง
- ทิศทางของธุรกิจไม่มีความชัดเจน
- ยอดขายไม่เติบโตอาจจะย่ำอยู่กับที่
- ลูกค้าเริ่มตีจาก พนักงานหมดกำลังใจ
- กำไรน้อย กระแสเงินสดเริ่มลดลง
ในทางตรงข้าม หากผู้จัดการรู้จักวิธีวางกลยุทธ์ที่ถูกต้องก็จะช่วยให้
- องค์กรมีทิศทางในระยะยาวที่ชัดเจน
- พนักงานทุกคนรู้สึกมีคุณค่ามีความหมายที่ได้ปฎิบัติภารกิจที่สำคัญ
- องค์กรสามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดความคุ้มค่า
- สามารถจัดการกับจุดอ่อนที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
- สามารถเติบโตจากการเสริมจุดแข็งที่โดดเด่น
วิธีเขียนแผนกลยุทธ์สำหรับผู้จัดการ
1. เริ่มต้นด้วยวิสัยทัศน์ขององค์กร
การวางกลยุทธ์ที่ดีจะต้องตอบโจทย์วิสัยทัศน์ขององค์กร ผู้จัดการมืออาชีพจะต้องเข้าใจก่อนว่า วิสัยทัศน์ขององค์กรคืออะไร องค์กรกำลังเดินไปในทิศทางไหน อะไรคือเป้าหมายสูงสุดที่องค์กรจะต้องไปให้ถึง เพราะแม้ว่าแผนนั้นจะเป็นแผนที่ดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าแผนนั้นไม่ได้ทำให้องค์กรขยับเข้าใกล้วิสัยทัศน์ก็ถือว่าเป็นแผนที่ใช้ไม่ได้
2. เชื่อมโยงกับพันธกิจ
หัวใจสำคัญของพันธกิจก็คือการระบุให้เห็นชัดเจนว่าองค์กรนี้เกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาทำไม มีภารกิจอะไรที่องค์กรจะต้องทำ ซึ่งแน่นอนว่าพันธกิจนี้จะมีความหมายและสร้างคุณค่าให้ Stakeholder เสมอ เช่น องค์กรมีพันธกิจคือ “องค์กรเราเกิดมาเพื่อช่วยให้ชาวนาไทยอยู่ดีมีสุข” ดังนั้น ถ้าพันธกิจชัดขนาดนี้ ผู้จัดการก็พอจะเห็นภาพแล้วว่าอะไรคือกลยุทธ์ที่องค์กรควรมีเพื่อตอบโจทย์พันธกิจทรงพลังนั้น
3. วิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร
ขั้นตอนที่สามในการเขียนแผนเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะว่าคุณจะต้องรู้จักประเมินองค์กรของคุณ จุดอ่อนและจุดแข็งขององค์กรคุณคืออะไร อะไรคือโอกาสที่คุณมองเห็นในอุตสาหกรรมของคุณ อะไรคือความท้าทายหรืออุปสรรคที่มีผลกระทบต่อการเติบโตในอุตสาหกรรมของคุณ ถ้าพูดภาษาง่ายง่ายก็คือคุณจะต้องรู้จักการทำ SWOT Analysis ในขั้นตอนนี้ให้ชัดเจน
4. กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน
เมื่อเราประเมินจุดแข็งจุดอ่อนขององค์กรแล้ว เราก็พอจะกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนได้ว่าอะไรคือเป้าหมายที่องค์กรต้องการบรรลุ และควรแตกเป้าหมายใหญ่ให้เป็นเป้าหมายย่อยที่แต่ละหน่วยงานมาช่วยกันรับผิดชอบทำให้เกิดขึ้นจริงด้วย เช่น เป้าหมายใหญ่คือยอดขาย 2,500 ล้านบาท และเป้าหมายย่อยคือมีลูกค้าใหม่จำนวน 200 ราย มีสินค้าใหม่ 4 SKUs มี Lead Time ในการจัดส่งสินค้าไม่เกิน 48 ชั่วโมง มีมูลค่าสินค้าในคลังหมุนเวียนไม่เกิน 40 วัน เป็นต้น
5. กำหนดกลยุทธ์บนจุดแข็งขององค์กร
เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว แต่ละหน่วยงานแต่ละแผนกก็ควรจะเริ่มไปเขียนแผนที่ตั้งอยู่บนจุดแข็งและโอกาสทางธุรกิจเป็นหลัก ควรจะระมัดระวังแผนที่เป็นจุดอ่อนด้วย เพราะโอกาสที่จะปฏิบัติงานได้สำเร็จตามกลยุทธ์นั้นจะน้อยลง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องวิเคราะห์ประเมินจุดแข็งจุดอ่อนขององค์กรก่อนที่จะวางแผนธุรกิจ ส่วนแผนที่ดีก็ควรจะระบุชัดเจนว่าใครทำอะไรเมื่อไหร่อย่างไรวัดผลอย่างไรด้วย
6. ลงมือทำปฏิบัติงานตามแผน
ขั้นตอนสุดท้ายคือ ผู้จัดการจะต้องมอบหมายงานตามแผนให้ทีมงานปฏิบัติงานอย่างชัดเจน และต้องสื่อสารเพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับแผนด้วย อย่าลืมมอบความไว้วางใจและมอบอำนาจให้ทีมงานด้วย เพราะพวกเขาเป็นคนปฏิบัติงานที่ต้องมีการแก้ปัญหาและตัดสินใจเสมอ นอกจากนั้นผู้จัดการจะต้องคอยมอนิเตอร์และสนับสนุนให้ทีมงานทุกคนเดินตามแผนนี้ด้วย
และนี่คือห้าขั้นตอนในการเขียนแผนก่อนและหลังขององค์กรซึ่งมีความสำคัญในทุกขั้นตอน แผนกลยุทธ์นี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกปีขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่โดยปกติแล้วพันธกิจจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง เพราะเป็นหัวใจสำคัญที่องค์กรเราเกิดขึ้นมาเพื่ออะไร วิสัยทัศน์สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะเมื่อเราบรรลุวิสัยทัศน์นั้นแล้วเราก็อาจจะมากำหนดวิสัยทัศน์ตัวใหม่ ซึ่งก็หมายถึงภูเขาที่เราพิชิตแล้ว เราก็คงอยากจะมองหาภูเขาที่สูงขึ้นไปอีกหรือภูเขาลูกใหม่เช่นกัน
หากท่านชอบบทความนี้และสนใจที่จะจัดหลักสูตรอบรมตั้งแต่ระดับพนักงานตลอดจนระดับผู้บริหาร ทาง DeOne Academy มีครบทุกหลักสูตร
ดูรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่: In House
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
โทร : 098-424-5241
https://www.facebook.com/DeOneAcademy