4 ความต่างระหว่างการ Feedback และการระบายอารมณ์

feedback

สำหรับหัวหน้างานแล้วนั้น คงมีหลายเหตุการณ์ที่ทำให้เราต้องการที่จะให้คำแนะนำกับทีมงานด้วยความคาดหวังผลสำเร็จของงานและหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมาย ทำให้เราพยายามที่จะผลักดันให้ทีมงานทำงานในหน้าที่ให้สำเร็จตามความคาดหวัง โดยใช้วิธีการให้ฟีดแบคเพื่อให้เกิดการปรับปรุง แก้ไข หรือ พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น

ดร.ชัยพัชร์ เลิศรักษ์ทวีกุล Chief Executive Officer & Founder – DeOne Academy ชี้ให้เห็นว่าการให้ Feedback นั้นเป็นสิ่งจำเป็นมากในการพัฒนาทีมงาน สามารถช่วยให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน แต่อาจมีหัวหน้าหลาย ๆ คนที่รู้สึกลำบากใจที่จะให้ฟีดแบคกับลูกน้องเวลาที่งานผิดพลาด หรือต้องการให้งานที่ทำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในบางครั้งอาจเป็นเหมือนการระบายอารมณ์กับลูกน้อง และนำไปสู่การลดทอนความมั่นใจของทีมงาน ทำให้เขารู้สึกไม่ดีกับหัวหน้างานได้

ในหลาย ๆ ครั้ง การให้ฟีดแบคกับทีมงาน การสื่อสารเพื่อให้ทีมงานรับรู้ถึงความรู้สึกของหัวหน้างานที่มีต่อประสิทธิภาพในการทำงานของลูกน้อง อาจมองว่าคล้ายกับการระบายอารมณ์ ซึ่งในชีวิตจริงของการทำงาน การให้ฟีดแบคที่ดี จะทำให้เกิดการพัฒนาลูกน้องให้เติบโตและดีขึ้น ซึ่งมีความต่างจากการระบายอารมณ์ที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม

Feedback กับการระบายอารมณ์ จะส่งผลที่แตกต่างกันอย่างไร

ฟีดแบคเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรม

หัวหน้างานมักจะให้ฟีดแบคทีมงาน เพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงได้ โดยไม่ใช่การตำหนิลูกน้อง ต้องพยายามทำให้ลูกน้องเข้าใจในวัตถุประสงค์ของการให้ฟีดแบคเพื่อให้เขาปรับปรุงให้ได้ผลการทำงานที่ดีขึ้น เพื่อสร้างให้เกิดแรงจูงใจในการปรับปรุงตัว 

หากหัวหน้างานใช้การระบายอารมณ์กับลูกน้อง เพื่อหวังว่าจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของเขาแล้วนั้น มีโอกาสอย่างมากที่ลูกน้องจะมีแรงต้าน และใช้อารมณ์กลับมาเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการไม่ยอมรับความคิดเห็นระหว่างกัน และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ในทีมงานได้อีกด้วย

ฟีดแบคเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน

การให้ฟีดแบคกับทีมงานนั้น หัวหน้างานต้องพูดคุยพร้อมวิธีทางแก้ไข ตกลงแนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน อันจะนำไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

หากหัวหน้างานใช้อารมณ์ในการสื่อสาร อาจจะไม่สามารถที่จะสื่อสารแนวทางที่ต้องการให้กับทีมงานได้นำไปปรับใช้ และจะทำให้ไม่สามารถที่จะสร้างความเข้าใจร่วมกันในทีมงาน อันจะส่งผลให้ทีมงานไม่สามารถทำงานได้สำเร็จตามความคาดหวังได้

feedback

ฟีดแบคเพื่อสร้างให้เกิดความเชื่อมั่น

อีกหนึ่งความแตกต่างระหว่างฟีดแบคกับการใช้อารมณ์คือ การให้ฟีดแบคทำให้เกิดความเชื่อมั่น ให้กำลังใจ และสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นกับลูกน้องว่า เขาสามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดความมั่นใจต่อการปฏิบัติงานในครั้งต่อ ๆ ไป

ในทางกลับกัน การระบายอารมณ์ส่งผลกระทบโดยตรงกับพนักงาน โดยอาจจะทำให้พนักงานรู้สึกถึงการไม่มีตัวตน จะทำให้ลูกน้องขาดความเชื่อใจ เชื่อมั่นในหัวหน้างาน ขาดแรงจูงใจในการทำงาน ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือมีผลงานที่แย่ไปกว่าเดิม

ฟีดแบคเพื่อหาบทสรุป

ในหลาย ๆ ครั้ง หัวหน้างานต้องมีการให้ฟีดแบคในเชิงลบ ซึ่งควรต้องมีการอธิบายให้ลูกน้องเข้าใจอย่างชัดเจน ถึงสิ่งที่ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงเพื่อเป็นโอกาสในการพัฒนาตัวเอง และไม่ควรนำข้อผิดพลาดในอดีตกลับมาพูดซ้ำอีก 

หากหัวหน้างานใช้การระบายอารมณ์โดยมีความคาดหวังที่จะให้ลูกน้องมีการพัฒนาตัวเองโดยที่ไม่ได้มีการสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา อาจทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าตนเป็นที่รองรับอารมณ์ ส่งผลให้บรรยากาศการทำงานหม่นหมอง ไม่มีความสนุนสนาน และไม่มีความเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน

เป็นอย่างไรกันบ้างครับ กับผลลัพธ์ที่แตกต่างของการให้ Feedback ทีมงานกับการระบายอารมณ์กับทีมงาน หวังว่าท่านจะได้นำไปคิด วิเคราะห์ และนำไปปรับใช้ในการให้บริหารทีมงานกันนะครับ

การให้ฟีดแบคที่มีประสิทธิภาพนั้น หัวหน้างาน จะต้องให้ฟีดแบคโดยปราศจากอคติใด ๆ ต้องเข้าใจว่าการให้ฟีดแบคนั้นเป็นเหมือนกระจกที่ช่วยสะท้อนให้ลูกน้องเข้าใจบทบาท หน้าที่ของตนให้มากขึ้น และพร้อมที่จะพัฒนา เติบโตไปกับองค์กร

เราในฐานะที่เป็นหัวหน้างาน ต้องไม่ลืมนะครับว่าผลงานของเราส่วนใหญ่มาจากลูกน้อง ถ้าเราไม่ให้เกียรติลูกน้อง ใช้การระบายอารมณ์ แทนที่การบริหารทีมงานให้มีประสิทธิภาพ จะทำให้ลูกน้องไม่มีใจที่จะสร้างผลงานร่วมไปกับเรา การระบายอารมณ์กับทีมงานนั้น อาจทำให้เราสบายใจได้ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่จะส่งผลลบกับเราในระยะยาวนะครับ

ดูรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่: In House


ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
โทร : 098-424-5241
https://www.facebook.com/DeOneAcademy

แชร์โพสต์นี้