5 มุมมองที่แตกต่างระหว่างพนักงานและหัวหน้างาน

กุญแจแห่งความสำเร็จในการทำงานคือ “การทำงานเป็นทีมเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันระหว่างพนักงานและผู้จัดการ” แต่ปัญหาที่พบเสมอคือ พนักงานและหัวหน้างานมักมีมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งหากไม่เข้าใจกันอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้ง

ดังนั้น โจทย์ใหญ่สำหรับคนที่เป็นผู้จัดการคงจะต้องตระหนักถึงความแตกต่างนี้ และเป็นเรื่องที่ผู้จัดการต้องพยายามเข้าใจมุมมองของพนักงานด้วย (Empathy) เพื่อจะได้ปรับจูนให้มีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน

5 มุมมองที่แตกต่างระหว่างพนักงานและหัวหน้างาน

มุมมองที่แตกต่าง

1. การมาทำงานสาย

ผู้จัดการบางคนคิดว่าพนักงานที่ทำงานแบบทุ่มเท คือพนักงานที่ใช้ชั่วโมงการทำงานนาน มาทำงานแต่เช้าและกลับบ้านค่ำ ๆ ในขณะที่พนักงานมองกว่า การทำงานทุ่มเทเกิดจากผลลัพธ์ของผลงานที่เกิดขึ้นมากกว่า จะมาทำงานสายแต่ได้ผลงาน จะกลับบ้านไวแต่มีงานส่ง ก็ไม่เห็นว่าผิดอะไร

ปัญหานี้คลาสสิกมากโดยเฉพาะการบริหารงานกับคนต่าง Gen สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้คงต้องเริ่มจากการวิเคราะห์สาเหตุที่พนักงานมาทำงานสาย และกลับบ้านไวว่าเกิดจากอะไรแล้วหาทางแก้ไขป้องกัน อีกประเด็นที่สำคัญมากคือต้องดูวัฒนธรรมองค์กรว่าให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร บางบริษัทเน้นที่ Result Oriented คือผลงานเท่านั้น จะมาทำงานกี่โมงกลับกี่โมง ไม่ได้ถูกนำมาประเมินผล บางบริษัทนอกจากจะโฟกัสที่ผลงานแล้วก็ยังให้ความสำคัญเรื่องวินัยในการทำงานด้วย

2. การทำงานแบบ Work from Home

ในสถานการณ์วิกฤติโควิด หลายบริษัทมีนโยบายให้ทำงานที่บ้านเพื่อรักษาระยะและความปลอดภัยของพนักงาน ผู้จัดการหลายคนอาจจะมีความกังวลว่าจะกระทบกับปริมาณและคุณภาพของงาน กังวลว่าพนักงานจะทำงานไม่เต็มที่เหมือนมาทำงานที่ออฟฟิศ ในขณะที่พนักงานจะกังวลว่าสถานที่ที่บ้านก็ไม่ได้สะดวก 100% เหมือนที่ออฟฟิศ Internet และอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ก็ไม่ได้รวดเร็วแรงเหมือนที่ออฟฟิศ เวลามีปัญหาในการทำงานก็เกรงว่าจะไม่มีใครให้คำแนะนำได้

สำหรับประเด็นนี้มีคำแนะนำว่าการสื่อสารที่ถี่และสั้นกระชับจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานในรูปแบบ Work from Home ผู้จัดการไม่ควรติดตามแต่ผลลัพธ์ของงานแต่ควรไถ่ถามสภาพการทำงานของพนักงานด้วยว่ามีอะไรให้สนับสนุนได้บ้าง

3. การให้และรับ Feedback

ผู้จัดการคิดว่าการให้ Feedback พนักงานก็เพราะหวังดี อยากให้พนักงานได้พัฒนา ปรับปรุงตัวเองเพื่อยกระดับมาตรฐานการทำงานให้ดีกว่าเดิม ในขณะที่พนักงานมักจะคิดว่าการให้ Feedback ของผู้จัดการคือการตำหนิต่อว่าหรือบ่น ซึ่งการคิดแบบนี้ก็จะทำให้เกิดการต่อต้านและไม่ยอมรับการ Feedback

ดังนั้นผู้จัดการควร Reframe สื่อสารกับพนักงานให้มีความเข้าใจตรงกันก่อนว่า หน้าที่ของผู้จัดการคือการช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหนึ่งในวิธีการที่จะทำเช่นนั้นได้คือการให้ Feedback ที่ตรงไปตรงมาและจริงใจหวังดี เพียงเท่านี้ก็พอจะช่วยให้การให้และรับ Feedback มีประสิทธิภาพมากขึ้น

มุมมองที่แตกต่าง

4. การมอบหมายงาน

ผู้จัดการบางคนคิดว่าการมอบหมายงานบอกแค่ผลลัพธ์ที่อยากได้ก็พอแล้ว แต่พนักงานบางคนก็อยากได้คำแนะนำ อยากทราบวิธีการด้วยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง มีขั้นตอนอะไรบ้าง หรือในบางกรณีผู้จัดการบางคนคิดว่า การมอบหมายงานต้องบอกรายละเอียดเป๊ะ ๆ ว่าต้องทำอะไรบ้างมีขั้นตอนอย่างไร ในขณะที่พนักงานบางคนก็ไม่ได้ชอบการทำงานในรูปแบบนี้ เพราะเขาก็มีวิธีการของตนเอง ดังนั้น ในการมอบหมายงานผมแนะนำว่า

ผู้จัดการอาจจะต้องวิเคราะห์ให้แม่นยำว่าพนักงานมีสไตล์หรือวิธีการทำงานแบบไหน เพราะพนักงานแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน การมอบหมายงานของผู้จัดการก็ต้องแตกต่างกัน

มุมมองที่แตกต่าง

5. การประเมินผลงาน

จริง ๆ แล้วทั้งผู้จัดการและพนักงานก็มีความกังวลในการประเมินผลงานทั้งคู่ แต่ว่ากังวลไม่เหมือนกัน ผู้จัดการจะกังวลว่าพนักงานจะปฏิเสธไม่ยอมรับผลการประเมินจะเกิดการต่อต้านและเสียความสัมพันธ์ที่ดี ในขณะที่พนักงานจะกังวลว่าผู้จัดการจะประเมินแบบมีอติ (Bias) ลำเอียง ไม่มีหลักฐานอ้างอิง ไม่ให้ความยุติธรรม

ดังนั้น ในการประเมินผลงาน ผู้จัดการควรวางแผนเรื่องการประเมินผลงานไว้ให้ดี ควรประเมินแบบตรงไปตรงมา ให้ความยุติธรรมกับพนักงานทุกคน ไม่ประเมินจากความสัมพันธ์ส่วนบุคคลว่าสนิทกับใคร รักชอบลูกน้องคนไหน ควรกำหนดเกณฑ์การประเมินที่ชัดเจนทั้ง KPI และ Competency

เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับ 5 มุมมองที่แตกต่างระหว่างพนักงานและหัวหน้างาน จริงๆ แล้วยังมีวิธีคิดอีกมากมายที่พนักงานและผู้จัดการคิดเห็นไม่เหมือนกัน จึงเป็นหน้าที่ของผู้จัดการมืออาชีพที่ต้องทำความเข้าใจวิธีคิดมุมมองของพนักงาน และหาทางปรับจูนวิธีคิดให้ไปในทิศทางเดียวกัน

หากท่านชอบบทความนี้และคิดว่าเป็นประโยชน์ สามารถเรียนรู้วิธีคิดวิธีการของคนที่เป็นผู้จัดการมืออาชีพได้เพิ่มเติมในหลักสูตร Professional Brand New Manager ก้าวสู่การเป็นผู้จัดการมืออาชีพ หลักสูตรที่ดีที่สุดสำหรับ

  • ผู้ที่กำลังจะได้รับการ Promote เป็นผู้จัดการใหม่
  • ผู้ที่เป็นผู้จัดการอยู่แล้วและต้องการลับคมการบริหารให้มีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น
  • ผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการและอยากพัฒนา Management Skills
  • ผู้ที่ต้องการเรียนรู้เทคนิคการบริหารคนบริหารทีมบริหารเวลาบริหารตัวเองให้ดีกว่าเดิม

ดูรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่: Professional Brand New Manager


ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
โทร : 098-424-5241
https://www.facebook.com/DeOneAcademy

แชร์โพสต์นี้