ทักษะเจรจาต่อรองเป็นทักษะสำคัญที่มีความสำคัญในการทำงานและการทำธุรกิจอย่างมาก ไม่เพียงแต่จะนำไปใช้ในที่ทำงานได้เท่านั้น แต่สามารถใช้ได้ทั้งในเรื่องส่วนตัวและชีวิตประจำวันได้เช่นกัน
เชื่อหรือไม่ว่าถ้าคุณอยากจะพัฒนาทักษะการเจรจาต่อรองในทางธุรกิจ คุณอาจจะเริ่มพัฒนาทักษะการเจรจาต่อรองนี้ที่บ้านของคุณเองก็ได้ มาดูกันว่าอะไรคือเทคนิคที่ทำให้เรามีความเชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรอง
5 ขั้นตอนการฝึกทักษะเจรจาต่อรองที่คุณทำเองได้ที่บ้าน
1. ฝึกการสังเกต
ถ้าพูดถึงการเจรจาต่อรอง ทักษะที่สำคัญทักษะหนึ่งที่อยากจะให้ฝึกฝนกันไว้เยอะ ๆ คือ “ทักษะการสังเกต” เพราะเวลาเจรจาต่อรอง เราจะต้องสังเกตอากัปกิริยาสีหน้าท่าทางของคู่เจรจาว่า
- การที่เค้ายกมือขึ้นมากอดหน้าอกมันหมายถึงอะไร
- การที่เค้าขมวดคิ้วมันหมายถึงอะไร
- การที่เค้ากัดปากมันหมายถึงอะไร
- การที่เขาหายใจถี่ถี่มันหมายถึงอะไร
ดังนั้นเวลาอยู่ที่บ้าน คุณเองก็สามารถฝึกสังเกตคนที่บ้านได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภรรยา สามี คุณพ่อ คุณแม่ ว่าตอนนี้สีหน้าท่าท่าทางของเขาเป็นอย่างไรบ้าง หมั่นฝึกฝนไว้ให้เคยชิน จะได้มีทักษะการสังเกตไปใช้ในการเจรจาต่อรองด้วย
2. ฝึกการแลกเปลี่ยนข้อเสนอ
หลักของการเจรจาต่อรองจะแตกต่างกับการโน้มน้าวใจ เพราะการเจรจาต่อรองจะต้องมีการยื่นและรับข้อเสนออยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ถ้าเราสามารถฝึกแลกเปลี่ยนข้อเสนอกับคนที่บ้านได้ก็น่าจะเป็นการฝึกปฏิบัติได้อย่างดี เช่น ถ้าคุณลูกชายอยากจะมาขอให้เราพาไปทานไอศครีม เราอาจจะยื่นขอแลกเปลี่ยนกับลูกชายก็ได้ว่า ถ้าอย่างนั้น คุณลูกชายช่วยคุณแม่ล้างจานในครัวให้เรียบร้อยก่อนแล้วเดี๋ยวพ่อก็จะพาไปทานไอศครีม
นี่ครับคือเทคนิคง่ายง่ายที่เราใช้ได้จริงในการเจรจาต่อรอง ส่วนใครอยากจะเอาเทคนิคนี้ไปใช้กับภรรยาก็ลองดูนะครับแต่ขอให้ทุกท่านโชคดีด้วยเช่นกัน
3. ฝึกการสร้างเงื่อนไข
การสร้างเงื่อนไขก็เป็นหนึ่งในเทคนิคในการเจรจาต่อรอง ประโยคสำคัญในการเจรจาต่อรองที่ใช้ก็คือ “ถ้าคุณตัดสินใจซื้อสินค้าของเราภายในวันนี้ เราจะมอบส่วนลดพิเศษเพิ่มให้อีก 100,000 บาท” นี่คือประโยคทองคำที่เราใช้บ่อยบ่อยในการเจรจา
ดังนั้นการฝึกการสร้างเงื่อนไขอาจจะนำมาใช้ภายในบ้านก็ได้ เช่น ถ้าคุณลูกทำการบ้านเสร็จทั้งหมดก่อน 6 โมงเย็นวันเสาร์ เดี๋ยววันอาทิตย์พ่อจะพาไปเที่ยวสวนสนุก ก็ถือว่าเป็นการฝึกการสร้างเงื่อนไขให้เกิดขึ้นแทนที่จะพาลูกไปเที่ยวเฉย ๆ เราก็สร้างเงื่อนไขขึ้นมาให้ลูกชายเข้าใจด้วยว่า ถ้าเค้าทำเงื่อนไขตามที่เรากำหนดได้เขาก็จะมีโอกาสได้ไปเที่ยวสวนสนุก
4. ฝึกการหาทางออก
บ่อยครั้งที่การเจรจาจะเจอทางตัน เช่น บริษัทกำหนดเงื่อนไขการรับประกันสินค้าหนึ่งปี ในขณะที่ลูกค้าต้องการเงินไขการรับประกันสินค้าสองปี แบบนี้เค้าเรียกว่า Dead Lock ซึ่งก็ต้องหาทางออกกันไป
ในครอบครัวของเรา ที่บ้านของเราก็อาจจะเจอปัญหาอย่างนี้เช่นกัน เช่น ลูกชายบอกว่าจะขอเล่นเกม 3 ชั่วโมง ในขณะที่เราคิดว่าควรจะให้เล่นเกมแค่ชั่วโมงเดียวก็พอ ซึ่งทั้งลูกชายและตัวเราก็ไม่ยอมทั้งคู่ การฝึกหาทางออกตรงนี้ ก็ควรจะเรียกลูกชายมานั่งคุยกันว่าเพราะอะไรเราถึงอยากจะให้เล่นแค่ 1 ชั่วโมง และก็ต้องสอบถามลูกชายด้วยว่า เพราะอะไรจึงอยากจะเล่น 3 ชั่วโมงแล้วก็หาทางออกร่วมกัน
เช่น ถ้าลูกยอมเล่นเกมแค่ 1 ชั่วโมง เดี๋ยวพ่อจะอ่านการ์ตูนให้ฟังจากหนึ่งเล่มเป็นสองเล่มเลยคืนนี้ก่อนนอน เป็นต้น เรียกว่าพยายามหาทางออกแทนที่จะไปขึ้นเสียงและใช้อำนาจความเป็นพ่อฟันธงไปเลยว่า 1 ชั่วโมงก็พอ แบบนั้นลูกชายอาจจะไม่ค่อยพอใจเท่าไหร่แต่ก็ต้องยอมเพราะว่าความเป็นพ่อมันยิ่งใหญ่กว่า
5. ฝึกการสร้าง Trust
ข้อนี้สำคัญมาก ๆ ครับ ความไว้เนื้อเชื่อใจในการเจรจาต่อรองคำพูดนี่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก พูดอะไรแล้วลูกค้าเชื่อ คู่เจรจาเชื่อ นี่มันยิ่งใหญ่มาก ดังนั้น เราอาจจะต้องฝึกความไว้เนื้อเชื่อใจภายในบ้านของเราให้เป็นนิสัย รักษาคำพูดที่เราพูดกับลูก ๆ หรือกับภรรยา สามี เราต้องทำให้ได้ เช่น
ถ้าเรารับปากภรรยาว่าจะกลับบ้านไม่เกินสองทุ่มเราก็ควรจะทำเช่นนั้น แม้ว่าเราจะไม่ค่อยอยากกลับบ้านก่อนสองทุ่มก็ตาม ก็ถือว่าเป็นการฝึกการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เป็นนิสัยซึ่งก็จะมีผลต่อการเจรจาธุรกิจด้วยเช่นกัน เพราะนิสัยที่บ้านเป็นอย่างไร บ้างก็จะมีผลต่อนิสัยที่ทำงานด้วยเช่นกันเพราะความคุ้นเคยและเคยชิน
เป็นยังไงกันบ้างครับกับ 5 ขั้นตอนการฝึกทักษะเจรจาต่อรองที่คุณทำเองได้ที่บ้าน ขอให้ทุกท่านลองเอาไปฝึกดูนะครับ มันไม่ได้ยากเลยเรื่องการเจรจาต่อรอง จริง ๆ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเราอาจมองไม่เห็นว่า อ๋อ! นี่หรอคือการเจรจาต่อรอง
คาถาของการเจรจาที่สำคัญก็คือ “ฝึกฝน ฝึกฝน ฝึกฝน” ให้เกิดความชำนาญและความเคยชิน ซึ่งจะทำให้เรากลายมาเป็นนักเจรจาต่อรองมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในทักษะต่าง ๆ
ดูรายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติมได้ที่: Negotiation Skills
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
โทร : 098-424-5241
https://www.facebook.com/DeOneAcademy